คุณสันตินันท์ เขียนไว้เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 24 ธันวาคม 2542 10:54:33
ผมเขียนเรื่องราวของพระมหาเถระในอดีตไปแล้วหลายองค์ นับแต่ท่านพระอานันทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระอชิตะ คราวนี้จะขอเล่าเรื่องพระมหาเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์พระป่ายุคนี้ คือท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
ท่านพระอาจารย์มั่น ถือกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเคยบวชเณรตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่สึกเมื่ออายุ 17 ตามคำขอร้องของพ่อ แล้วกลับมาบวชอีกเมื่ออายุ 22 ปี ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลฯ ท่านได้ศึกษาการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นจากท่านพระอาจารย์เสาร์ ณ วัดเลียบ จากนั้นก็ออกปฏิบัติธรรมจนได้รับการนับถือเป็นปรมาจารย์ของพระป่ายุคนี้ ท่านละสังขารที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492
ธรรมคำสอนของท่านที่พวกเรารู้จักกันมากที่สุดคือ มุตโตทัย แต่มุตโตทัย เป็นเพียงบันทึกย่อคำสอนในช่วงปลายชีวิตของท่าน ซึ่งท่านอาจารย์วิริยังค์ บันทึกไว้เท่านั้น นอกจากนี้ก็มีคำบอกเล่าของศิษย์บางองค์ ว่าท่านสอนอะไรมาบ้าง แต่ที่จะหาคำสอนของท่านแท้ๆ นั้น หายากมากครับ กระทั่งคำถามคำตอบธรรมะ ที่เล่ากันว่า ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์(จูม) ถาม ท่านพระอาจารย์มั่น ตอบ นั้น เอาเข้าจริงอาจจะไม่ใช่คำสอนจริงของท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้
ผมไปพบธรรมคำสอนที่ ท่านพระอาจารย์มั่น ประพันธ์ด้วยองค์ท่านเองเรื่องหนึ่ง เห็นสมควรนำมาบอกกล่าวให้พวกเราเข้าใจกันด้วยภาษาปัจจุบัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับขันธ์ 5 ดังนี้
" ....นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจ ธมฺมขนฺธานิ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมซึ่งพระสุคตบรมศาสดาศากยมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า และพระนวโลกุตรธรรม 9 ประการ และพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น
บัดนี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวซึ่งธรรมขันธ์ โดยสังเขปตามสติปัญญาฯ
ยังมีท่านคนหนึ่งรักตัวคิดกลัวทุกข์ อยากได้สุขพ้นภัยเที่ยวผายผัน เขาว่าสุขมีที่ไหนก็อยากไป แต่เที่ยวหมั่นไปมาอยู่ช้านาน
นิสัยท่านนั้นรักตัวกลัวตายมาก อยากจะพ้นแท้ๆ เรื่องแก่ตาย
วันหนึ่งท่านรู้จริงซึ่งสมุทัยพวกสังขาร ท่านก็ปะถ้ำสนุกสุขไม่หาย เปรียบเหมือนดังกายนี้เอง ชะโงกดูถ้ำสนุกทุกข์คลาย
แสนสบายรู้ตัวเรื่องกลัวนั้นเบา ดำเนินไปเมินมาอยู่หน้าเขา จะกลับไปป่าวร้องพวกพ้องเล่า ก็กลัวเขาเหมาว่าเป็นบ้า
สู้อยู่ผู้เดียวหาเรื่องเครื่องสงบ เป็นอันจบเรื่องคิดไม่ติดต่อ ดีกว่าเที่ยงรุ่มร่ามทำสอพลอ เดี๋ยวถูกยอถูกติเป็นเรื่องเครื่องรำคาญ..."
ก่อนจะแสดงธรรม ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไหว้ครูเสียก่อน ด้วยความเคารพในพระรัตนตรัย และไม่ได้ถือว่า ธรรมที่จะบรรยายนี้เป็นธรรมของท่าน จากนั้นจึงเล่าถึงบุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นภัยในสังสารวัฏ เที่ยวแสวงหาทางออกไปตามที่ต่างๆ ใครเขาว่าดีที่ไหน ก็ไปกับเขา แต่ไม่พบทางออกจากทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านเข้าใจเรื่องสังขารอันเป็นตัวทุกข์ และเข้าใจเหตุให้เกิดทุกข์
ด้วยการพิจารณากายของท่าน อันเป็นโพลง เป็นถ้ำที่อาศัยของจิต จิตของท่านก็เลย "แสนสบาย รู้ตัว" แต่ท่านก็ยังคงซ่อนตัวอยู่ เพราะไม่กล้าประกาศธรรมที่เข้าใจมา จนกระทั่งวันหนึ่ง ......
ยังมีบุรุษคนหนึ่ง คิดกลัวตายน้ำใจฝ่อ มาหาแล้วพูดตรงๆ น่าสงสาร ถามว่าท่านพากเพียรมาก็ช้านาน เห็นธรรมที่จริงแล้วหรือยังที่ใจหวัง
เมื่อพญามังกรผู้ซ่อนกายถูกถามเช่นนั้นก็เกิดความเอะใจว่า คนๆ นี้ สนใจในสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจ ท่านจึงเกิดความเมตตา ให้คำแนะนำถึงการปฏิบัติ ดังนี้
เอ๊ะ! ทำไมจึงรู้ใจฉัน บุรุษนั้นก็อยากอยู่อาศัย ท่านว่าดีดี ฉันอนุโมทนา จะพาดูเขาใหญ่ถ้ำสนุกทุกข์ไม่มี
คือ กายคตาสติภาวนา ชมเล่นให้เย็นใจหายเดือดร้อน หนทางจรอริยวงศ์ จะไปหรือไม่ไปฉันไม่เกณฑ์ ไม่หลอกเล่นบอกความให้ตามจริง
เรื่องกายคตาสตินี้ ผมได้ยกทั้งกายคตาสติสูตร และเรื่องราวการบรรลุพระอรหันต์ของท่านพระอานนท์มายืนยันแล้ว ว่าเป็นทางแห่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ หากใครยังเชื่อตำรารุ่นหลังที่ว่า กายคตาสติเป็นเพียงวิธีการทำสมถะ ผมก็ไม่เกณฑ์ให้เชื่อเหมือนกันครับ เพราะ "ทาง" นั้นบอกกันได้ ส่วนจะเดินหรือไม่เดิน เป็นเรื่องของท่านผู้นั้นโดยตรง
เชิญฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นต่อไปครับ
แล้วกล่าวปริศนา ท้าให้ตอบ
ปริศนานั้นว่าระวิ่งคืออะไร? ตอบว่าวิ่งเร็วคือวิญญาณอาการใจ เดินเป็นแถวตามแนวกัน สัญญาตรงไม่สงสัย ใจอยู่ในวิ่งไปมา สัญญาเหนี่ยวภายนอกหลอกลวงจิต ทำให้จิตวุ่นวายเที่ยวส่ายหา หลอกเป็นธรรมต่างๆ อย่างมายา
เห็นพวกเรากำลังชอบทายปริศนาธรรม ปราชญ์ในอดีตท่านก็ชอบทายปริศนาเหมือนกัน อย่างเรื่องนี้ ท่านอาจารย์มั่นก็ตั้งปัญหาว่า อะไรที่วิ่งเร็ว แล้วท่านก็ตอบว่า วิญญาณซึ่งเป็นอาการของใจ เป็นตัวที่วิ่งเร็ว
การจะทำความเข้าใจธรรมของพระป่านั้น ขั้นแรกสุดคือต้องเชิญตำราขึ้นหิ้งก่อน ถ้าเอาตำรามากล่าวก็จะเกิดปัญหา แต่ถ้าเอาของจริงในใจของแต่ละคนมาตีแผ่กัน ธรรมชนิดนี้ เป็นธรรมที่ถึงจิตถึงใจจริงๆ
เวลาที่พวกเราดูจิตกันนั้น เคยสังเกตเห็นสภาวะอันหนึ่งไหมครับ มันเป็นสภาวะที่ยื่นออกไปจับอารมณ์ทางตา ทางหู เป็นต้น คล้ายๆ กับใจมันยื่นงวงออกไปจับอารมณ์ ทางนั้นที ทางนี้ที พอจับลงที่อารมณ์ปั๊บ จิตก็เกิดขึ้นทางตา ทางหู และเสวยอารมณ์นั้น
ความหยั่งรู้อารมณ์ หรือเครื่องมือพาจิตเกิดทางอายตนะ 6 นี้แหละครับ คือสภาวะของวิญญาณที่ท่านอาจารย์มั่นกล่าวในที่นี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดน่าฟังออกไปอีกว่า "วิญญาณเป็นพาหนะพาจิตไปเกิด หรือจะพาจิตไปไหนๆ ก็ได้" เช่นเราต้องการรู้ว่า บนดวงจันทร์มีเทวดาหรือผีอยู่บ้างไหม ก็หยั่งความรับรู้ หรือวิญญาณออกจากใจ เข้าไปที่ดวงจันทร์ จิตก็จะรู้ได้ว่า ที่นั้นมีเทวดาหรือไม่ เป็นต้น
จิต มโน(ใจ) วิญญาณ ในทางตำรานั้นหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่นักปฏิบัติเราแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกไปได้อีก ที่ตำราท่านไม่แยกไว้มาก ผมเข้าใจว่า ท่านไม่อยากให้คนอ่านต้องฟุ้งซ่านมากด้วยความคิดนั่นเอง
วิญญาณหรือความหยั่งรู้อารมณ์นี้ มันผุดขึ้นและส่งออกไปจากใจ ท่านจึงเรียกว่ามันเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ใจหรือจิต เช่นเดียวกับเวทนา สัญญา และสังขารนั่นเอง ที่เป็นอาการของใจ
ลำพังวิญญาณคือความหยั่งรู้อารมณ์ทางตา ทางหู นั้น ยังไม่มีผลให้จิตเป็นทุกข์ แต่เพราะ สัญญา คือความจำได้หมายรู้ต่างหาก ที่เข้ามาล่อลวงให้จิตหลง ผมขอยกตัวอย่างการพิจารณาธรรมเกี่ยวกับสัญญามาเล่าให้พวกเราฟังสักหน่อย เพื่อจะได้เห็นภาพว่า สัญญา หลอกลวงจิตได้อย่างไร
เมื่อตอนที่ผมออกไปปฏิบัติธรรมที่หนองคายเมื่อต้นเดือนนี้ วันหนึ่งเดินจงกรม เหมือนเช่นที่เดินทุกวันนั่นเอง เริ่มเดินก็รู้การกระทบของเท้า ขวาพุท ซ้ายโธ ไปเรื่อยๆ พอจิตขยับตัวนิดหนึ่ง จิตก็มารู้ตัวทั่วพร้อม ก็เดินทำความรู้ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้เจตนาจะพิจารณาธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
เดินๆ อยู่สัญญาก็ผุดขึ้น นึกถึงญาติโยมที่มาบวชชีพราหมณ์ พอความจำได้ผุดปั๊บ สติปัญญาซึ่งเป็นสังขารฝ่ายกุศลก็ตามทันทันที คือจิตมันรู้ว่า ถ้ารู้ไม่ทันความปรุงแต่ง ก็จะนำทุกข์มาให้ ปัญญาก็ตัดสัญญานั้นดับลง ไม่ปรุงแต่งให้มากเรื่องต่อไป เดินไปอีกก้าวหนึ่ง ภาพคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ผุดขึ้นอีก สติปัญญารู้ทันแล้วสัญญาก็ดับลงตรงนั้นอีก พอหูได้ยินเสียงลมพัด สัญญาก็จำได้ว่าเสียงลม แล้วสัญญาก็ดับลงตรงนั้น
สัญญาที่ผุดเปลี่ยนเรื่องไปทุกก้าวย่างนั้น เกิดดับอยู่เพียงนั้น จิตไม่มีน้ำหนักอะไร เพราะไม่ได้ปรุงแต่งสังขารขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ได้แต่มีสติ ระสึกรู้ทันสัญญา แล้วก็วางลงเพียงนั้น ถึงจุดหนึ่งจิตก็ตัดกระแสความปรุงแต่ง เข้าไปอยู่กับธรรมชาติรู้ที่เบิกบาน ไม่มีอะไรจะให้ปฏิบัติมากกว่านั้น เพียงจิตรู้อริยสัจจ์ 4 แล้วตัดความปรุงแต่งขาดไป จิตก็พ้นจากทุกข์แล้ว
แต่ละวันที่ปฏิบัติธรรมนั้น จิตพิจารณาธรรมบ้าง ไม่พิจารณาบ้าง ถ้าไม่พิจารณาก็รู้ตัวทั่วพร้อมไป ถ้าพิจารณาจิตก็ดำเนินไปเอง อย่างเมื่อสองสามวันนี้ นอนหลับไปตอน 4 ทุ่ม แล้วไปตื่นตอนตี 1 ก็ลุกขึ้นเดินจงกรมตามกิจวัตร ทีแรกจิตมีความง่วงแทรก ก็เดินแบบสมถะ ขวาพุท ซ้ายโธ พอจิตมีกำลังก็ขยับมารู้ตัวทั่วพร้อม กายเบาจิตเบา แล้วก็ระลึกถึง glory ซึ่งตอนกลางวันสนใจมาถามเรื่องสุตตสมาบัติ ก็เลยวางจิตลงตรงมโนวิญญาณ ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ก็เห็นมโนวิญญาณที่ห่อหุ้มธรรมชาติแท้จริงอยู่ แล้วจิตก็พิจารณาว่า มโนวิญญาณนี้เกิดจากอะไร เอาสติหยั่งแตะอยู่ที่มโนวิญญาณนั้นสบายๆ สติปัญญาก็สาวย้อนจนพบว่า มโนวิญญาณนั้นเกิดมาจากอภิสังขาร 3 นั่นเอง พอเอาสติหยั่งลงที่อภิสังขาร ก็รู้ว่า เพราะความไม่รู้อริยสัจจ์ 4 เมื่อสัญญาผุดขึ้น หรือเมื่อมีเวทนาแล้วสัญญาในเวทนาผุดขึ้น สังขารก็ปรุงแต่งทันที แล้วมโนวิญญาณก็เกิดขึ้นแผ่ออกครอบคลุมธรรมชาติแท้ในจิตไว้
ตัวมายาจอมหลอกลวง ไม่มีอะไรจะเสมอด้วยสัญญา เมื่อมันมาเจอเข้ากับจิตอวิชชาคราวใด มันจะพาให้เกิดความปรุงแต่งคราวนั้น แล้วมโนวิญญาณก็เกิดขึ้น หยั่งลง ก่อรูปนาม ก่ออายตนะภพชาติไปตามลำดับ กระทั่งเจตนาที่จะรู้จิตรู้อารมณ์ ก็ยังเป็นอภิสังขารฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายตั้งมั่นบ้าง แล้วเป็นปัจจัยให้มโนวิญญาณเกิดขึ้น เช่นเจตนาที่จะรู้ตัว มันก็ทำให้ความรู้ตัวชัดเจนขึ้นมานิดหนึ่ง แปลกแยกจากธรรมชาติหน่อยหนึ่ง ไม่ใช่ความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างแท้จริง
จะข้ามภพข้ามชาติให้ได้ ก็ต้องทำลายวิญญาณให้ได้ จะดับวิญญาณได้ ก็ต้องละอภิสังขารซึ่งรวมถึงเจตนาให้ได้ จะละอภิสังขาร ก็ต้องมีสติปัญญารู้ทันตอนที่สัญญาผุดขึ้นให้ได้
ลงท้ายแล้วก็สรุปได้ว่า ความไม่รู้มีอยู่ตราบใด ความปรุงแต่งไปตามการหลอกลวงของสัญญาก็มีอยู่ตราบนั้น
พูดเรื่องวิญญาณอาการใจ และสัญญาจอมหลอกลวงเสียนาน ขอเชิญอ่านธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นต่อไปครับ
ถามว่าห้าขันธ์ใครพ้นจนทั้งปวง แก้ว่าใจสิพ้นอยู่คนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวพัวพันติดสิ้นพิศวง หมดที่หลงอยู่เดียวดวง สัญญาทะลวงไม่ได้หมายหลงตามไป
ความว่า ใจที่สัญญาหลอกลวงไม่ได้นั้น ย่อมพ้นความหลง หมดอุปาทานขันธ์
ถามว่าที่ตายใครเขาตายที่ไหนกัน แก้ว่าสังขารเขาตายทำลายผล
ตรงนี้ท่านสอนว่า ที่ว่าตายนั้น ไม่มีคนตาย มีแต่สังขารที่เกิดแล้วก็ดับไป
ถามว่าสิ่งใดก่อให้ต่อวน แก้ว่ากลสัญญาพาให้เวียน เชื่อสัญญาจึงผิดคิดยินดี ออกจากภพนี้ไปภพนั้นเที่ยวหันเหียน เลยลืมจิตจำปิดสนิทเนียน ถึงจะเพียรหาธรรมก็ไม่เห็น
เมื่อกล่าวถึงสัญญาคราวใด ผมจะนึกถึงบรรพชนไทย ที่ท่านแปลคำว่าสัญญาว่า ความจำได้หมายรู้ สัญญาในแง่ความจำที่ผุดขึ้นนั้น ผมได้กล่าวไปแล้ว ว่าเป็นการจำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ และการจำอดีตต่างๆ ได้ เรียกว่าอดีตสัญญา
ส่วนสัญญาในความหมายของความ หมายรู้นั้น หมายถึงมุมมองของจิต เมื่อจิตไปรับรู้อารมณ์เข้า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับธรรมของพระอริยเจ้า จะมีสัญญาวิปลาส คือมองสิ่งต่างๆ ในมุมของความเที่ยง ความทนอยู่ได้ และความเป็นตัวตน ส่วนผู้ได้สดับ ก็จะพลิกมุมมองไปใช้ อนิจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญา
สัญญาความจำได้ กับสัญญาความหมายรู้ผิดๆ ล้วนเป็นตัวพาก่อเกิดความปรุงแต่ง ก่อภพก่อชาติไม่สิ้นสุด เพราะไปหลงนิยมยินดีกับสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง กับสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข กับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตนของตน
หลวงปู่มั่นท่านตบท้ายว่า จิตที่หลงสัญญานั้น มีแต่เที่ยวร่อนเร่ไป ไม่มีทางเห็นจิตซึ่งถูกปิดบังด้วยความเขลา และเมื่อไม่เห็นจิต ก็ไม่มีทางเห็นธรรม เพราะธรรมเกิดที่จิต ทั้งอกุศล กุศล และธรรมที่เป็นกลาง เมื่อจิตถูกปิดบังไปแล้ว ธรรมก็ถูกปิดบังไปด้วย
ธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นประพันธ์ไว้เรื่องนี้ ยังมีอีกยาวครับ ถ้าจะเขียนรวดเดียวให้พวกเราอ่าน ก็จะหนักเกินไป คิดว่าทะยอยเขียน ทะยอยอ่านจะสบายกว่า ดังนั้น จึงขอโพสต์แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ แล้วจะค่อยเขียนเพิ่มภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านตั้งปริศนาธรรมต่อไปว่า ใครเป็นผู้กำหนด ใครเป็นผู้หมายธรรม คำตอบก็คือ ใจนั่นแหละเป็นผู้กำหนด และหมายรู้ธรรมทั้งปวง ไม่มีคน สัตว์ บุคคล ที่ไหนมาเป็นผู้กำหนดและหมายรู้ธรรม และเมื่อจิตกำหนดรู้ธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว สัญญาจะทำงานต่อไป จนจิตหลงไปในเรื่องดี-ชั่ว รัก-ชัง อันเป็นเรื่องของความปรุงแต่งทั้งสิ้น
ถามต่อว่า อะไรคือการกินหนเดียว แล้วไม่ต้องกินอีก ตอบว่าความสิ้นไปแห่งตัณหา หรือสิ้นความอยาก ทำให้จิตไม่ต้องเที่ยวเสพย์อารมณ์อะไรต่อไปอีก
คำถามคำตอบต่อไปนี้ อยากให้พวกเราอ่านคำประพันธ์ของท่าน เพราะมีนัยที่น่าฟังบางอย่าง
ถามว่าสระสี่เหลี่ยมเปี่ยมด้วยน้ำ แก้ว่าธรรมสิ้นอยากจากสงสัย ใสสะอาดหมดราคีไม่มีภัย สัญญาในนั้นพรากสังขารขันธ์นั้นไม่ถอน ใจจึงเปี่ยมเต็มที่ไม่มีพร่อง เงียบสงัดดวงจิตไม่คิดตรอง เป็นของควรชมชื่นทุกคืนวัน แม้ได้สมบัติทิพย์สักสิบแสน หาแม้นเหมือนรู้จริงทิ้งสังขาร หมดความอยากเป็นยิ่งสิ่งสำคัญ จำส่วนจำกั้นอยู่ไม่ก้ำเกิน ใจไม่เพลินทั้งสิ้นหายดิ้นรน
สิ่งที่เต็มบริบูรณ์ไม่เคยพร่อง คือ ธรรม ที่สิ้นอยาก หรือ ใจ ที่พ้นจากอำนาจของตัณหา ในขั้นนี้ ธรรมกับใจก็คืออันเดียวกัน ในขณะที่ จิตที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา จะพร่องอยู่เป็นนิจ ประเภท ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม มีแต่ความดิ้นรนทะยานอยาก
ใครอยากรู้ว่า จิตของท่านที่พ้นจากตัณหาแล้วเป็นอย่างไร สามารถอนุมานเอาได้จากกลอนข้างบนนี้ คือสัญญาแยกพรากจากสังขารอย่างมั่นคงถาวร หมายถึงเมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะสัญญาส่งลูกต่อให้สังขารปรุงไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา สติปัญญาจะเข้ามาทำหน้าที่แทนโดยอัตโนมัติ ตัดความปรุงแต่งขาดสะบั้นลงเพียงนั้น ใจก็เต็มบริบูรณ์อยู่อย่างนั้น เข้าถึงความเงียบสงัด ตรงนี้ได้ยินครูบาอาจารย์ท่านบอกเสมอ ว่าใจในขั้นนี้ เงียบสนิทจริงๆ ไม่มีความคิดนึกปรุงแต่งมารบกวน เพราะสัญญามันดับไป ไม่ส่งลูกต่อให้สังขารปรุง
ท่านว่า ใจ ดวงวิเศษนี้ มีค่ากว่าสมบัติทิพย์ทั้งปวง กระทั่งเทวโลกและพรหมโลก หมดความดิ้นรนโดยสิ้นเชิง
ธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งถึงแก่นเข้าไปตามลำดับ เป็นประโยชน์อย่างมาก ที่เราจะเรียนรู้ไว้บ้าง ผมเองตอนนี้ ก็ได้ธรรมส่วนนี้เป็นแผนที่เดินทางเล่มสำคัญ
ท่านเขียนไว้ดังนี้
เหมือนอย่างว่ากระจกส่องหน้า ส่องแล้วอย่าคิดติดสัญญา เพราะว่าสัญญานั้นดังเงา อย่าได้เมาไปตามเรื่องเครื่องสังขาร ใจขยันจับใจที่ไม่ปน ไหวส่วนตนรู้แน่เพราะแปรไป ใจไม่เที่ยวของใจใช่ต้องว่า รู้ขันธ์ห้าต่างชนิดเมื่อจิตไหว แต่ก่อนนั้นหลงสัญญาว่าเป็นใจ สำคัญว่าในว่านอกจึงหลอกลวง คราวนี้ใจเป็นใหญ่ไม่หมายพึ่ง สัญญาหนึ่งสัญญาใดมิได้ห่วง เกิดก็ตามดับก็ตามสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องหวงไม่ต้องกันหมู่สัญญา เหมือนยืนบนยอดเขาสูงแท้แลเห็นดิน และเห็นสิ้นทุกตัวสัตว์แต่ว่าสูงยิ่งนัก แลเห็นเรื่องของตนแต่ต้นมา เป็นมรรคาทั้งนั้นเช่นบันได
ผมอ่านธรรมบทนี้ด้วยความเร้าใจอย่างยิ่ง คือท่านเปรียบสัญญานี้เหมือนเงา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง แต่หลอกให้คนหลงได้ว่ามีตัวตน ถ้าเข้าใจสัญญาว่าเป็นดังเงาที่ไม่มีแก่นสารสาระ จิตก็จะไม่มัวเมาไปกับสังขารหรือความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ เพราะสังขารนั้น มีสัญญาเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิดขึ้น
ผู้ปฏิบัติที่สามารถจำแนกสัญญากับใจออกจากกันแล้ว ท่านให้ขยันจับใจ ที่ไม่ปนด้วยสัญญา ใจจะหยุด นิ่ง สงัด สิ่งใดแปลกปลอมออกจากใจก็รู้ชัด และสิ่งที่แปลกปลอม หรือเป็นอาการของใจ หรือเป็นความไหวออกไปจากใจ ก็คือขันธ์ 5 นั่นเอง ท่านย้ำอีกว่า แต่ก่อน เคยหลงสัญญาว่าเป็นใจ จึงเกิดความสำคัญมั่นหมายในสิ่งภายในภายนอกขึ้น ต่อเมื่อ ใจ ถึง ใจ แล้ว ใจก็เป็นใหญ่ในตัวของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาสัญญา สิ่งต่างๆ ก็เกิดดับไปตามธรรมชาติของมันเอง ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ ใจ กระทั่งการปฏิบัติที่ผ่านมาแล้ว ก็เหมือนบันไดเท่านั้น เมื่อขึ้นถึงจุดสุดท้ายคือ ใจ ก็ไม่มีอะไรจะต้องดำเนินต่อไปอีก
พวกเราหลายคนรบเร้าขอให้ผมเล่าการปฏิบัติที่วัดป่าเขาน้อยให้ฟัง พอดีเห็นว่า สอดคล้องกับธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นในช่วงนี้ จึงถือโอกาสเล่าเสียในคราวเดียวเลย
ช่วงที่ผมพาพวกเราสิบกว่าคน ไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าเขาน้อยนั้น ในเวลากลางวัน ผมต้องยุ่งเกี่ยวกับคนจำนวนมากหลายสิบคน การปฏิบัติก็ทำได้เพียงการเจริญสติ ไม่หลง เท่านั้น แต่ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาส่วนตัว ผมจะเดินจงกรมในช่วงหัวค่ำจนถึง 4 ทุ่ม หลังจากนั้นจะนอนพักให้เต็มอิ่ม จะไปตื่นเอาประมาณตีสอง ขึ้นมาเดินจงกรม สลับกับนั่งสมาธิ จนใกล้สว่างจึงจะหลับสั้นๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วเริ่มกิจกรรมของวันใหม่ต่อไป
การเดินจงกรมนั้น เบื้องแรกจะรู้การก้าวเท้า ขวา ซ้าย ไปในแบบที่ธรรมดาที่สุด พอจิตมีกำลัง จิตจะยกตัวขึ้นมาดูจิต เห็นจิตผู้รู้กับอารมณ์ที่ถูกรู้เกิดดับไป
รูปก็แยกไปส่วนหนึ่งคือกายที่เดินไปมา กับรูปภายนอกคือ ภาพต้นไม้ในแสงสลัวของเดือนดาว เสียงที่มากระทบหู ความหนาวที่มากระทบกาย
เห็นสุขเวทนาอันเกิดแต่วิเวกของกลางคืน เห็นราคะที่แทรกอยู่กับสุขเวทนา แล้วเห็น มโนสัญญเจตนา คือความจงใจที่จะหมายรู้จิต เมื่อเห็นถึงตรงนี้ จิตก็สลัดความจงใจออก จิตก็หยุดอยู่กับความรู้ตัว สงบ สว่าง เบิกบาน และนุ่มนวล
ถึงตรงนี้ผมก็จะเห็นสัญญา คือ ความหมายรู้ เป็นคนละส่วนกับ ใจ ความหมายรู้ ยังเป็นอาการ ออกไปจาก ใจ ไม่ใช่ ใจ เหลือเพียงการมนสิการถึง ใจ อันอัศจรรย์เหลือเกิน แล้วเกิดความรู้ความเข้าใจทางดำเนินต่อไปอย่างแจ่มชัดว่า มีแต่การ ใจขยันจับใจที่ไม่ปน ดังที่ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวไว้นั่นเอง
แต่เดิมนั้น เราสร้างจิตผู้รู้ เรามีจิตผู้รู้ บัดนี้เห็นชัดแล้วว่า จิตผู้รู้ ยังเป็นส่วนประกอบของ ขันธ์ กับ ใจ เป็นเครื่องมือให้เราเดินปัญญาพิจารณาเข้าสู่ ใจ การปฏิบัติทั้งปวง มีการทำความสงบและการจำแนกรูปนามขันธ์ห้า ล้วนเป็นบันได เป็นมรรคา เพื่อเข้าถึง ใจ ดวงวิเศษนี้เอง คือใจ ดวงที่แยกเอาความหมายรู้อารมณ์หรือสัญญาออกไปได้ ไม่หลงเอาสัญญาหรือความหมายรู้ ว่าเป็นใจ และการจำแนกสัญญา ออกจาก ใจ ก็คือการทำลายจิตผู้รู้นั่นเอง
เมื่อเข้าถึง ใจ ก็จะเห็นจริงว่า สิ่งที่เกิดออกไป หรืออาการของใจทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ ตรงนี้ไม่ใช่โวหาร แต่เป็นการเห็นขันธ์ทั้งปวง เป็นทุกข์ล้วนๆ และทุกข์นั้นก็เป็นความจริงของมันเองอยู่อย่างนั้น แต่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับ ใจ ที่เป็นความจริงอีกอันหนึ่ง
เรื่องของ ใจ ที่พ้นจากขันธ์นั้น ผมจะได้นำมาเล่าต่อไป เพราะท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ประพันธ์ไว้พอเป็นแนวทางอยู่เหมือนกัน แต่การจะเรียบเรียงคำประพันธ์ของท่านออกมาให้ฟังง่ายนั้น ยากที่สุด เพราะเป็นธรรมที่ละเอียดล้ำลึก ชนิดทำลายโลกอย่างแท้จริง ผมเองก็ไม่กล้าเขียนรวดเดียวจบเหมือนเรื่องอื่นๆ เพราะมีแง่มุมการปฏิบัติที่ลึกล้ำเหลือประมาณ ส่วนพวกเราก็อ่านเอาไว้ เพื่อใช้เป็นแนวลูบคลำในอนาคต ตอนนี้อ่านไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร อย่าพยายามเค้นเพื่อทำความเข้าใจนะครับ จะเกิดความเสียหายอย่างมากกับการปฏิบัติในช่วงนี้
ท่านพระอาจารย์มั่น ตั้งคำถามและตอบต่อไป เกี่ยวกับเรื่องของสังขาร ว่ากรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งสังขารทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว และจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ความจริงของสังขาร จึงจะเกิดความเบื่อหน่าย แล้วสามารถปล่อยวางสังขารได้โดยไม่ต้องบังคับใจ หากไม่รู้ตามความเป็นจริง ย่อมไม่เบื่อหน่าย หากไม่เบื่อหน่าย ย่อมไม่สามารถปล่อยวางสังขารได้ด้วยปัญญา
ท่านกล่าวถึงขันธ์ 5 ว่าต่างก็มีหน้าที่ของตนเอง รูป ก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย นาม ก็เกิดดับต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน พอมีเรื่องดีก็เพลิดเพลินเจริญใจ พอกระทบเรื่องไม่ดี ไม่ชอบใจ ก็วุ่นวายคิดไม่หยุด จิตก็เศร้าหมองไปตามอำนาจของความพอใจและความไม่พอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตคิดนึกปรุงแต่งเอาเองเท่านั้น
บทกลอนตอนนี้ของท่านว่าไว้อย่างน่าฟังว่า
เช่นไม่อยากให้จิตเที่ยวคิดรู้ อยากให้อยู่เป็นหนึ่งหวังพึ่งเฉย จิตเป็นของผันแปรไม่แน่เลย สัญญาเคยอยู่ได้บ้างเป็นครั้งคราว
พวกเรานักปฏิบัติจะมาติดอยู่ตรงนี้กันมาก คืออยากให้จิตดี ให้จิตสงบเป็นหนึ่ง พ้นทุกข์พ้นร้อนหยาบๆ โดยไม่ยอมรับความจริงว่า จิตเองก็ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์เช่นกัน เมื่อเจริญได้ ก็เสื่อมได้ เป็นธรรมดา
ไม่ต้องยกตัวอย่างคนอื่นหรอก แม้แต่ผมเองก็เกิดความหลงผิดเป็นครั้งคราวเหมือนกัน บางวัน จิตใจเบิกบาน เหมือนจะหยิบเอานิพพานต่อหน้าต่อตาในขณะนั้นนั่นเอง แต่บางวัน จิตใจโง่งม กระทั่งการปฏิบัติก็แทบไม่รู้จัก งงๆ ว่า เอ การปฏิบัตินี่จะต้องทำยังไงบ้างนะ เรียกว่ามันเสื่อมหมดทั้งสมาธิและปัญญา กระทั่งสัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติก็ไม่เหลืออยู่ ต่อเมื่อจิตเกิดความรู้ทันว่า อ้อ จิตแสดงธรรมเรื่องความเป็นไตรลักษณ์ของจิตนี่เอง นั่นแหละ จิตจึงเกิดมีกำลังในการปฏิบัติต่อไปได้อีก
สิ่งอื่นนั้นเป็นการง่ายที่จะเห็นเป็นไตรลักษณ์แล้วปล่อยวางความยึดมั่นเสีย แต่จิตนี้แหละ ที่ถูกยึดว่าเป็นเราอย่างเหนี่ยวแน่นที่สุด ตราบใดที่ยังไม่ถึงพระอรหันต์ ตราบนั้นความยึดจิตก็ยังมีอยู่เสมอๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ความจริง จนเห็นธรรมชาติแท้ของขันธ์ 5 ซึ่งรวมถึงจิตด้วย จึงจะเข้ากับบทกลอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่ว่า
ถ้ารู้เท่าธรรมดาทั้งห้าขันธ์ ใจนั้นก็ขาวสะอาดหมดมลทินสิ้นเรื่องราว ถ้ารู้ได้อย่างนี้จึงดียิ่ง เพราะเห็นจริงถอนหลุดสุดวิถี ไม่ฝ่าฝืนธรรมดาตามเป็นจริง จะจนจะมีตามเรื่องเครื่องนอกใน ดีหรือชั่วต้องดับเลื่อนลับไป ยึดสิ่งใดไม่ได้ตามใจหมาย ใจไม่เที่ยวของใจไวหวะวับ สังเกตจับรู้ได้สบายยิ่ง
ตรงนี้ท่านสอนว่า ถ้ารู้จริงเรื่องขันธ์ 5 แล้ว ใจก็ไม่ท่องเที่ยวร่อนเร่ไปอีก การจะสังเกต รู้ ก็เป็นเรื่องง่ายสบายยิ่งไปในทันที แต่หากไม่รู้จริงในเรื่องขันธ์ 5 ก็จะเกิดสภาวะต่อไปนี้
เล็กบังใหญ่ไม่รู้ทัน ขันธ์บังธรรมมิดผิดที่นี้ มัวดูธรรมขันธ์ไม่เห็นเป็นธุลีไป ส่วนธรรมมีใหญ่กว่าขันธ์นั้นไม่แล
สิ่งที่ปิดบังธรรมไว้จนมิดชิด ทำให้เรามองไม่เห็น ก็คือขันธ์นั่นเอง คือเรารู้ได้แต่ขันธ์ วุ่นวายกับการปฏิบัติในเรื่องปรุงแต่งขันธ์ เช่นพยายามให้จิตสงบหายวุ่นวาย สงบแล้วก็พยายามจะให้สงบตลอดไป สิ่งเหล่านี้แหละ ที่ปิดบังธรรมเอาไว้อย่างมิดชิดทีเดียว
คราวนี้มาถึงคำถามสุดท้ายที่สำคัญที่สุด เข้าใจยากที่สุด แต่ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจธรรมต่อไปนี้อย่างถ่องแท้ ก็หมดเรื่องที่จะต้องศึกษาต่อไปอีกในทางพระพุทธศาสนา ขอเชิญอ่านไปอย่างใจเย็นๆ นะครับ
ถามว่า มี - ไม่มี ไม่มี - มี นี้คืออะไร
แล้วท่านก็ตอบว่า ที่ว่าเกิดมีต่างๆ ทั้งเหตุ - ผล แล้วดับ ไม่มี ชัดใช่สัตว์คน นี่ข้อต้น มี - ไม่มี อย่างนี้ตรง
สรุปแล้ว มี - ไม่มี ก็คือสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามเหตุปัจจัย แต่ไม่มีอัตตาตัวตน
ข้อปลาย ไม่มี - มี นี้เป็นธรรม ที่ลึกล้ำใครพบจบประสงค์ ไม่มีสังสาร มีธรรมที่มั่นคง นั่นและองค์ธรรมเอกวิเวกจริง ธรรมเป็นหนึ่ง ไม่แปรผันเลิศพบสงบนิ่ง เป็นอารมณ์ของใจไม่ไหวติง ระงับยิ่งเงียบสงัดชัดกับใจ
สรุปแล้ว ไม่มี - มี คือวิสังขารธรรม คือได้แก่ ธรรม ที่ไม่มีสังขาร หรือนิพพานนั่นเอง นิพพานเป็นธรรมอันเอก เป็นอารมณ์ของใจ (ขอให้สังเกตว่า ท่านไม่ได้ใช้คำว่าอารมณ์ของจิต) คือเป็นอารมณ์ของธรรมชาติรู้ ที่พ้นจากความปรุงแต่งของสังขารทั้งปวง นิพพานนั้น ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เป็นความสงบสงัดและระงับอย่างยิ่งจากสังขารทั้งปวง
เมื่อเข้าถึงธรรมวิเศษนี้แล้ว สิ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ
ใจก็สร่างจากเมาหายเร่าร้อน ความอยากถอนได้หมดปลดสงสัย เรื่องพัวพันขันธ์ห้าซาสิ้นไป เครื่องหมุนในไตรจักรก็หักลง
ตรงนี้คงไม่ต้องอธิบาย เว้นแต่คำว่าไตรจักร ท่านหมายถึงภพทั้งสามที่สัตว์ต้องเวียนตายเวียนเกิดไม่สิ้นสุด ได้แก่กามภพ รูปภพ และอรูปภพ นั่นเอง
จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็สรุปว่า ถ้าจิตทรงธรรม ก็เป็นเครื่องกีดกันสมุทัยไม่ให้เกิดขึ้น ทุกข์กับธรรม เป็นของประจำจิตใจ ถ้าจิตทรงธรรม รู้ชัดในทุกข์ ก็เป็นอันตัดสมุทัยได้ ขันธ์ก็เป็นทุกข์ไปตามธรรมชาติของขันธ์ ส่วนใจที่ทรงธรรม ก็ปราศจากทุกข์ ต่างฝ่ายต่างอยู่ ต่างทำหน้าที่ของตนไป ท่านกล่าวในตอนท้ายว่า ความผิดบาปทั้งหลายนั้น เกิดได้เพราะความไม่รู้ ถ้าจิตรู้จริงเสียแล้ว ก็พ้นจากความผิดบาปเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง
บทกลอนของท่านพระอาจารย์มั่น ก็จบลงเพียงเท่านี้ ธรรมอันนี้ หาฟังหาอ่านตามตำราไม่ได้ แต่เป็นธรรมที่แจ่มแจ้งขึ้นกับจิตใจของท่าน แล้วท่านก็นำมาแจกแจงแสดงต่อสานุศิษย์ทั้งปวง
คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น จะผิดถูกชั่วดีประการใด ก็สุดแต่วินิจฉัยของแต่ละท่านก็แล้วกัน
--- จบ --- วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 14:16:26 อ้างอิง:
http://www.dhammada.net/coffee/index.php/topic,8.0.html
No comments:
Post a Comment