Sunday, April 22, 2012

วิปัสสนาญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ)

www.baandhammatan.com

ญาณที่ ๑
นามรูปปริจเฉทญาณ คือญาณเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรมที่แยกขาดจากกัน ทีละอารมณ์โลกปรากฏสภาพที่สูญเปล่าจากตัวตนไม่มี อัตตสัญญาที่กายทรงจำสภาพธรรม มีสภาพธรรมปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตา สันตติขาดเห็นรูปนามเบื้องแรกจะมีอาการตกใจ ผู้ปฏิบัติจะอุทาน ว่า อ้อ นี่หรือ รูปนาม ที่เราพยายามหาทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ใช่อื่นไกลเส้นผมบังภูเขานี่เอง เช่นนี้ก็ตัดสินใจได้ว่าสัตว์บุคคลเทวดาพรหมอื่นนอกจากรูปนาม ไปไม่มี ทั้ง ๓๑ ภูมิ มีแต่รูปกับนามเท่านั้น มีอยู่ที่ใดมีทุกข์ที่นั่นญาณนี้เรียกว่า “ทิฏฐิวิสุทธิ นั่นเอง คือ ความเห็นอันบริสุทธ์ว่ามีแต่รูปนามเท่านั้น และเป็น วิปัสสนาญาณขั้นต้นนำทางไปสู่ วิปัสสนาญาณขั้นต่อๆ ไป


ญาณที่ ๒
ปัจจยปริคคหญาณ คือ ญาณที่รู้ชัดถึงความต่างกันของรูปนาม ขณะที่ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นและขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณเกิด หรือเรียกว่าญาณแจก ปัจจัยแห่งรูปนามที่กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูป ดุจนายแพทย์ค้นหาสมุฏฐานของโรค เมื่อแสวงหาเหตุก็จะเห็นว่า รูปนามเกิดจากธรรม ๕ อย่างคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม และอาหาร เป็นเหตุให้เกิดรูปปัจจัยโดยมีอาหารเป็นปัจจัยอุปถัมภ์รูป ต่อนั้นไป ก็จะเห็นเหตุปัจจัยของนามมีจักขุวิญญาณ ฯลฯ เป็นต้น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะ จักขุปสาทะกับรูปารมณ์แสงสว่าง มนสิการ เมื่อประชุมพร้อมกันทั้ง ๔ อย่างจึงเกิดขึ้นได้ แม้โสตวิญญาณชิวหาวิญญาณ ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกัน เมื่อเห็นอย่างนี้ก็จะละ คลายความสงสัยทั้งปวงเสียได้ ญาณนี้เรียกว่า กังขา วิตรณวิสุทธิ คือมีความรู้ ความเห็นอันบริสุทธิ์ข้ามพ้นความสงสัยเสียได้


ญาณที่ ๓
สัมมสนญาณ คือ ปัญญาญาณที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของ นามธรรมและ รูปธรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แยกออกเป็น ๔ นัย คือ
(๑) กลาปสัมมสนนัย เห็นชัดถึงรูปอดีต ปัจจุบัน อนาคต รูปภายใน-นอก รูปหยาบ -ละเอียด รูปใกล้-ไกล รูปเลว-ประณีต ทั้งหมดเป็นอนิจจังสิ้นไปถ่ายเดียวไม่มีกลับ
(๒) อัทธานสัมมสนนัย เห็นรูปนามในอดีตไม่เป็นปัจจุบัน รูปนามปัจจุบันไม่เป็นอนาคต รูปภายในไม่เป็นรูปภายนอก ฯลฯ เป็นต้น มีเหตุปัจจัยกันอยู่ ปัจจุบันดี อนาคตดี ปัจจุบันชั่ว อนาคตชั่ว อุปมาเหมือนดวงตราเมื่อประทับลงในกระดาษนั้นรูปตราปรากฏอยู่ แต่ดวง ตราหาติดกระดาษไม่
(๓) สันตติสัมมสนนัย พิจารณาเห็นรูปร้อนหายไปรูปเย็นเกิด รูปเย็น-ดับรูปร้อนเกิด รูปนามไม่เที่ยงเป็นอนัตตา
(๔) ขณสัมมสนนัย เห็นความเกิดดับกันอยู่เรื่อยไป ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่งนอน และเห็นว่า ขันธ์ ๕ เกิด เพราะ อวิชชาเกิด ขันธ์ ๕ ดับ เพราะอวิชชาดับ
เมื่อพระโยคีหรือผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาญาณเห็นความเกิดดับของรูปนามดังกล่าวมานี้ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ได้แก่ โอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิสุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา และนิกันติ ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามีสติติดต่อกันจริงๆ แล้ว วิปัสสนูปกิเลส อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ตั้งแต่ญาณ ๑ถึงญาณ ๓ นี้เรียกว่า “ญาตปริญญา” คือ ปัญญาที่ ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏโดยสภาพไม่ใช่ตัวตน เป็นพื้นฐาน ให้น้อมพิจารณา ลักษณะของรูปนามอื่นเพิ่มขึ้น


ญาณที่ ๔
อุทยัพพยญาณ คือ ญาณที่เกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทอย่างชัดเจนยิ่ง รูปนามที่เกิดสันตติขาดเป็นห้วงๆ ประหนึ่งคนแกว่งธูป เมื่อแกว่งเร็วก็เกิดดับติดๆกันไป เราเห็นควันธูปเป็นไม่ดับ แต่ที่แท้ควันธูปดับอยู่เสมอ เรียกญาณนี้ว่า “ตีรณปริญญาญาณ” คือ ปัญญาที่พิจารณาลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเสมอกันทั้ง ๖ ทวาร ไม่เจาะจงฝักใฝ่ มุ่งหวังเฉพาะรูปนามใดรูปนามหนึ่ง ความสมบูรณ์ของปัญญารู้ชัดเสมอกัน
อนึ่ง ญาณนี้เมื่อสมาธิมากขึ้น นึกอยากจะเห็นอะไรก็เห็นหมด จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ย่อมจะเป็นนิมิตมาให้เห็นได้ทั้งนั้น ฉะนั้นต้องระวังให้มากอย่าอยากเห็นเป็นอันขาด เพราะจะทำให้วิปัสสนารั่วและจะเสียปัจจุบันธรรม ทางนั้นเป็นสมถะไม่ใช่วิปัสสนา


ญาณที่ ๕
ภังคญาณ คือ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความไม่มีสาระของการเกิดขึ้นและดับไปของ สภาพธรรมที่ปรากฏเป็น “ปหานปริญญา” คือ ปัญญาที่รอบรู้เพิ่มขึ้นละคลายความยินดีใน นามรูป เห็นโทษของนามรูปเพิ่มขึ้น ละวิปลาสเสียได้ คือ ละความเห็นว่าเที่ยง ว่าสุข ว่า เป็นตัวตน ว่าสวย ว่างาม


ญาณที่ ๖
ภยญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัวดุจราชสีห์


ญาณที่ ๗
อาทีนวญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นรูปนามมีแต่โทษไม่มีคุณดุจเรือนไฟที่ติด ทั่วแล้วฉะนั้น


ญาณที่ ๘
นิพพิทาญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายละคลายความเห็นที่เห็นชอบที่ เคยมาแล้ว


ญาณที่ ๙
มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาให้จิตใคร่จะพ้นไปจากรูปนาม ดุจมัจฉาอยาก จะพ้นข่าย ไม่อยากมีรูปนาม


ญาณที่ ๑๐
ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณารูปนามซ้ำเพื่อทำอุบายให้พ้นจากรูปนามนั้นเสีย


ญาณที่ ๑๑
สังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ชัดในความวางเฉยในรูปนามรู้ว่ารูปนามเป็นวิบาก ไม่เป็นของที่จะละได้ จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้เป็นธรรมที่ให้ต้องกำหนดรู้ เรียกว่า “ปริญเญยกิจ”


ญาณที่ ๑๒
สัจจานุโลมิกญาณ คือ ญาณปัญญาที่มีกำลังพอที่จะเห็นอริยสัจเรียกว่า “ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ” คือ มีความรู้อันบริสุทธิ์ดำเนินไปโดยลำดับ


ญาณที่ ๑๓
โคตรภูญาณ คือ ญาณที่ตัดกระแสเชื้อของปุถุชนหน่วงนิพพานเป็นอารมณ์ ทำลายโคตรปุถุชน หยั่งลงสู่อริยโคตร


ญาณที่ ๑๔
มัคคญาณ คือ ญาณปหานกิเลสเป็นสมุจเฉท เป็นพระอริยบุคคล


ญาณที่ ๑๕
ผลญาณ คือ ญาณเสวยวิมุตติสุขอันเป็นวิบากของมรรค


ญาณที่ ๑๖
ปัจจเวกขณญาณ คือ ญาณพิจารณารู้กิเลสที่เหลือและหมดไปในผลปริโยสาณ จิตหยั่งลงสู่ภวังค์ พิจารณากิเลสที่ละแล้ว พิจารณากิเลสที่เหลืออยู่ ว่ากิเลสเหล่านี้เรา ละแล้ว อวสานพิจารณา ถึงอมตะนิพพานว่า ธรรมที่เราแทงตลอดแล้ว

No comments:

Post a Comment